มหาศึกคนชนเทพ ศากยมุณี (buddha)
ศากยมุณี เป็นหนึ่งในตัวแทนของฝั่งเทพที่เข้าร่วมศึกในครั้งนี้ ศากยมุณีเป็นศาสดาของศาสนาพุทธของอินเดีย ท่านก็เหมือนกับเฮอคิวลิส ที่ท่านถูกส่งมาเกิดเพื่อทดสอบตัวเองในโลกมนุษย์ ศากยมุณีเองก็เลยมีความรักและความสนิทในตัวมนุษย์ทุกคน หรือก็กล่าวคือ ท่านได้เป็นมนุษย์ก่อนที่จะเป็นเทพ โดยเป็นผู้ที่คิดค้นการหลุดพ้นต่อทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเทพซูสได้ยอมรับกฎแรคนาร็อก แน่นอนเขาได้มาเชิญให้ศากยมุณีเข้าร่วม แต่ศากยมุณี ก็แสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยและไม่อยากเข้าร่วมเท่าไหร่ เฉกเช่นเดียวกับเฮอคิวลิส แต่ในที่สุดท่านก็ต้องเข้าร่วมตามกฎของเหล่าเทพ ถึงจะปฎิเสธที่จะไม่เข้าร่วมไม่ได้ แต่ท่านก็ยังสามารถที่จะหาวิธีช่วยมนุษย์ในแบบอื่นได้ และแผนการในการช่วยเหลือมนุษย์ก็ได้เริ่มขึ้ม…
ประวัติแห่งยุค มหาศาสดาแห่งศาสนาพุทธ (อินเดีย)
พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามเดิมว่า “สิทธัตถะ” หมายถึง ผู้ที่สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว หรือผู้ปรารถนาสิ่งใด ย่อมได้สิ่งนั้น ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ และ “พระนางสิริมหามายา” พระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ
ท่านได้ประสูติที่ใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ ปีจอ 80 ปีก่อนพุทธศักราช (ปัจจุบันสวนลุมพินีวันตั้งอยู่ในประเทศเนปาล) และทันทีที่พระองค์ประสูติ ท่านก็สามารถก้าวเดินได้ทั้งสิ้น 7 ก้าว ในแต่ละก้าวที่ท่านก้าวเดิน ก็ล้วนมีดอกบัวเบ่งบานในแต่ละก้าวทั้งสิ้น อีกทั้ง ท่านยังเปล่งวาจาออกมาว่า ในภพชาตินี้ จะเป็นภพชาติสุดท้ายของเรา จากนี้ จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก การก้าวเดินรวมทั้งการเปล่งวาจาของท่าน สร้างความประหลาดใจให้แก่เหล่าผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก
หลังจากที่ท่านได้ถือกำเนิดได้ 7 วัน พระมารดาของพระองค์ก็เสด็จสวรรคตจากไป ส่งผลให้ในทีแรก พระเจ้าสุทโธนะพระบิดาของพระองค์ ยังทำใจไม่ได้ที่มเหสีสุดที่รักได้จากไป ท่านได้กล่าวโทษว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับบุตรของท่านเป็นต้นเหตุ จึงทำให้ท่านไม่อยากจะพบเจอสิทธัตถะอีกตลอดไป แต่ยังไงเสีย ด้วยความที่รักพระนางสิริมหามายา จึงทำให้พระองค์ยอมเปิดใจ อุ้มเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อนั้นพระองค์ก็รู้สึกรักในตัวของเจ้าชายน้อยอย่างน่าอัศจรรย์
หลังจากนั้น พระองค์ก็ได้ทำพิธีเฉลิมฉลองเจ้าชายน้อยสิทธัตถะอย่างยิ่งใหญ่ รวมทั้งยังเชิญพราหมณ์ทั้ง 8 ไห้มาช่วยทำนายถึงชะตาชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะ คำทำนายมีอยู่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ คือ หากดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ ผู้อายุน้อยที่สุดในจำนวนนั้น ยืนยันหนักแน่นว่า พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวช และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลกอย่างแน่นอน
เมื่อได้ยินคำทำนาย ทีแรกพระเจ้าสุทโธนะก็ดีใจ ที่บุตรของตนเกิดมามีชะตาที่จะได้เป็นใหญ่ กลายเป็นมหาบุรุษ แต่ก็รู้สึกผิดหวังที่ในคำทำนายนั้น ยังมีเรื่องการที่เจ้าชายจะต้องออกบวช ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้พระเจ้าสุทโธทนะเป็นกังวล พระองค์จึงค่อยๆ คิดหาวิธีที่จะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะมีความสุขในชีวิต จนไม่มีความคิดที่จะออกผนวชอีกเลย จึงได้ออกกฎหมาย ให้สร้างเมืองหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้คนแก่ คนป่วย ที่อยู่ในเมืองได้ไปอยู่กันที่แห่งนั้น เพราะไม่อยากให้เจ้าชายต้องโตมาเห็นภาพที่น่าเวทนาเหล่านี้ และยังทรงสั่งให้สร้างปราสาท 3 ฤดูขึ้นมา เพื่อให้พระองค์ได้ประทับที่นั่น อย่างสะดวก สะบาย อย่างที่สุด
เจ้าชายสิทธัตถะในวัยเด็ก ท่านเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดและมีความสามารถมาก ทรงศึกษาเล่าเรียนจนจบศิลปศาสตร์ทั้ง 18 ศาสตร์ ในสำนักครูวิศวามิตร ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และเนื่องจากพระบิดาทรงไม่มีพระประสงค์ให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสดาเอกของโลก จึงพยายามทำให้เจ้าชายสิทธัตถะพบเห็นแต่ความสุข นอกจากปราสาท 3 ฤดูแล้ว ท่านยังจัดงานเลี้ยงรื่นเริงต่างๆ ขึ้นมา เพื่อหวังให้เจ้าชายมีความสุขอย่างถึงที่สุด และยังทรงจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการราชาภิเษกให้เจ้าชายขึ้นครองราชย์
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุ 16 พรรษา ท่านได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา หรือยโสธรา พระธิดาของพระเจ้ากรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา จนเมื่อมีพระชนมายุ 29 พรรษา พระนางพิมพาได้ประสูติพระราชโอรส มีพระนามว่า “ราหุล” ซึ่งหมายถึง “บ่วง” ในเวลานั้น เจ้าชายสิทธัตถะรู้สึกมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุข
จนกระทั่งวันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงเบื่อหน่ายความจำเจในปราสาท 3 ฤดู จึงได้แอบชวนสารถีทรงรถม้าประพาสอุทยาน ครั้งนั้นพระองค์ ได้รับสั่งให้สารถีนำพาพระองค์ออกไปนอกจากบริเวณที่ได้กำหนด เมื่อออกมาจากบริเวณนั้น พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย รวมถึงนักบวช ภาพเหล่านั้นเป็นภาพที่พระองค์ไม่เคยได้พบเจอที่ใดมาก่อน เป็นครั้งแรกที่พระองค์รู้สึกตระหนักได้ว่า นี่คงเป็นธรรมดาของโลก ชีวิตของทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ จึงทรงเห็นว่าความสุขทางโลกเป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น และวิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ คือต้องครองเรือนเป็นสมณะ ดังนั้น พระองค์จึงใคร่ควรคิด และได้ตัดสินใจที่จะเสด็จออกบรรพชา ในขณะที่มีพระชนมายุ 29 พรรษา
เมื่อตัดสินใจแล้ว พระองค์ได้ทรงเสด็จไปพร้อมกับนายฉันทะ สารถี ซึ่งเตรียมม้าพระที่นั่ง นามว่า กัณฑกะ มุ่งตรงไปยังแม่น้ำอโนมานที ก่อนจะประทับบนกองทราย ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ และเปลี่ยนชุดผ้ากาสาวพัตร์(ผ้าย้อมด้วยรสฝาดแห่งต้นไม้) และให้นายฉันทะ นำเครื่องทรงกลับพระนคร ก่อนที่พระองค์จะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์(การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่) เพียงลำพัง เพื่อมุ่งพระพักตร์ไปยังแคว้นมคธ
หลังจากทรงผนวชแล้ว พระองค์ก็มุ่งไปที่แม่น้ำคยา แคว้นมคธ ซึ่งคือจุดเริ่มต้นในการแสวงหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์ ด้วยการศึกษาค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร แต่เมื่อเรียนจบทั้ง 2 สำนักแล้ว พระองค์ได้ทรงเห็นว่านี่ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์
หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงกล่าวลาอาจารย์ และเสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จนมาพบกับกลุ่มนักบวชที่กำลังฝึกเพื่อที่จะหลุดพ้น ด้วยความเชื่อที่ว่า การทรมาณร่างกายตนเป็นหนทางแห่งการหลุดพ้น เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นพระองค์จึงได้ทรงเข้าร่วมในการฝึกครั้งนี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาตามหลักคำสอนของนักบวช ด้วยการขบฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร จนร่างกายซูบผอม
แต่หลังจากทดลองได้ 6 ปี พระองค์ก็ทรงเข้าใจแล้วว่า วิธีนี้ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา และหันมาฉันอาหารตามเดิม ในระหว่างที่กำลังฝึกอยู่นั้น พระองค์ได้ทรงเห็นคนที่กำลังดีดพิณอยู่ ในการดีดพิณแต่ละครั้ง พระองค์ได้พบว่าผู้ที่ดีดพิณกำลังปรับเสียงพิณและดีดด้วยกัน 3 วาระ โดยการดีดพิณสายที่ 1 สายพิณนั้นขึงไว้ตึงเกินไป เมื่อดีดก็พลันขาดลง ส่วนดีดพิณวาระที่ 2 สายพิณซึ่งขึงไว้หย่อน เมื่อดีดเสียงจะยืดยาดขาดความไพเราะ และวาระที่ 3 สายพิณสายสุดท้ายที่ขึงไว้พอดี กับดีดออกมาได้เสียงกังวานไพเราะ ดังนั้น จึงทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ทางสายกลางคือไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป นั่นคือทางที่จะนำสู่การพ้นทุกข์
หลังจากพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ทำให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ที่มาคอยรับใช้พระองค์ด้วยความคาดหวังว่าเมื่อพระองค์ค้นพบทางพ้นทุกข์ จะได้สอนพวกตนให้บรรลุด้วย เกิดเสื่อมศรัทธาที่พระองค์ล้มเลิกความตั้งใจ จึงเดินทางกลับไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตำบลสารนาถ เมืองพาราณสี
เมื่อตัดสินใจได้อย่างแน่วแน่แล้ว พระองค์ก็ทรงประทับนั่งขัดสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ อุรุเวลาเสนานิคม เมืองพาราณสี หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานว่าตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ทรงลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์เป็นอันขาด และแม้จะมีหมู่มารเข้ามาขัดขวาง ก็ไม่อาจจะทำให้พระองค์ทรงล้มเลิกความตั้งใจไปได้ เหล่าหมู่มารทั้งหลายก็ได้พ่ายแพ้ด้วยพระบารมีของพระองค์จนต้องหนีหายกลับไป จนเวลาได้ล่วงเลยไป ในที่สุดพระองค์ก็ทรงบรรลุรูปฌาน คือ
ยามต้น หรือปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ สามารถระลึกชาติได้
ยามสอง ทางบรรลุจุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุญาณ) คือ รู้เรื่องการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรมที่กำหนดไว้
ยามสาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ หรือกิเลส ด้วยอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค และได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นศาสดาเอกของโลก ซึ่งวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 6 ขณะที่มีพระชนมายุ 35 พรรษา
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้มาเป็นเวลา 7 สัปดาห์ และทรงเห็นว่าพระธรรมนั้นยากต่อบุคคลทั่วไปที่จะเข้าใจและปฏิบัติได้ พระองค์จึงทรงพิจารณาว่า บุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวกอย่าง บัว 4 เหล่า ที่มีทั้งผู้ที่สอนได้ง่าย และผู้ที่สอนได้ยาก พระองค์จึงทรงระลึกถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบส ผู้เป็นพระอาจารย์ จึงหวังเสด็จไปโปรด แต่ทั้งสองท่านเสียชีวิตแล้ว พระองค์จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่เคยมาเฝ้ารับใช้ จึงได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงธรรมคือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า สูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป ซึ่งถือเป็นการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา
ในการเทศธรรมครั้งนี้ ทำให้พระโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งวาจาว่า “อัญญาสิ วตโกณฑัญโญ” แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้ว ท่านโกณฑัญญะจึงได้สมญาว่า อัญญาโกณฑัญญะ และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา โดยเรียกการบวชที่พระพุทธเจ้าบวชให้ว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
หลังจากปัญจวัคคีย์อุปสมบททั้งหมดแล้ว พุทธองค์จึงทรงเทศน์อนัตตลักขณสูตร ปัญจวัคคีย์จึงสำเร็จเป็นอรหันต์ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้เดินทางเพื่อเทศน์พระธรรมเทศนา จนได้มาพบเข้ากับ ยสกุลบุตร จึงได้โปรดการเทศน์แก่เขา และในเวลาต่อมา ท่านก็ได้โปรดเทศน์ธรรมให้แก่เหล่าเพื่อนมิตรของยสกุลบุตร จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด รวม 60 รูป
พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะให้มนุษย์โลกพ้นทุกข์ พ้นกิเลส จึงตรัสเรียกสาวกทั้ง 60 รูป มาประชุมกัน และตรัสให้พระสาวก 60 รูป จาริกแยกย้ายกันเดินทางไปประกาศศาสนา 60 แห่ง โดยลำพัง ในเส้นทางที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ในหลายพื้นที่อย่างครอบคลุม ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปแสดงธรรม ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม
หลังจากสาวกได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้มีผู้เลื่อมใสพระพทุธศาสนาเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงอนุญาตให้สาวกสามารถดำเนินการบวชได้ โดยใช้วิธีการ “ติสรณคมนูปสัมปทา” คือ การปฏิญาณตนเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัย พระพุทธศาสนาจึงหยั่งรากฝังลึกและแพร่หลายในดินแดนแห่งนั้นเป็นต้นมา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์และแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา ในวันหนึ่งพระองค์ได้ทรงสดับว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน จึงได้ทรงปลงอายุสังขาร ขณะนั้นพระองค์ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวลาสี แคว้นวัชชี โดยก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน 1 วัน พระองค์ได้เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะทำถวาย แต่เกิดอาพาธลง ทำให้พระอานนท์โกรธ แต่พระองค์ตรัสว่า “บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ที่สุด มี 2 ประการ คือ เมื่อตถาคต (พุทธองค์) เสวยบิณฑบาตแล้วตรัสรู้ และปรินิพพาน” และมีพระดำรัสว่า “โย โว อานนท ธมม จ วินโย มยา เทสิโต ปญญตโต โส โว มมจจเยน สตถา” อันแปลว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”
หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงประชวรอย่างหนัก แต่ก็ทรงอดกลั้นมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ หนึ่งเพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน และสองสาวกที่พระองค์จะบวชให้เป็นคนสุดท้ายอยู่ที่แห่งนั้น เมื่อมาถึงก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ก็ได้อุปสมบทแก่พระสุภัททะปริพาชก ซึ่งถือได้ว่า “พระสุภภัททะ” คือสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ ท่ามกลางคณะสงฆ์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์ และปุถุชนจากแคว้นต่าง ๆ รวมทั้งเทวดา ที่มารวมตัวกันในวันนี้
ในครานั้นพระองค์ทรงมีปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา พวกเธอจึงทำประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” (อปปมาเทน สมปาเทต)
จากนั้นพระองค์จึงได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 รวมพระชนมายุ 80 พรรษา และวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของพุทธศักราชนั่นเอง
ถึงแม้ว่าตัวของท่านจะปรินิพพานไปเนิ่นนานแล้ว แต่หลักคำสอน รวมทั้งสาวกของท่านก็ยังคงอยู่สืบไปอีกมากกว่าหลายพันปี อันจะเห็นได้ว่า หลักคำสอนและการปฎิบัติที่ท่านได้ทรงสอน เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนจำนวนมาก พระพุทธศาสนานั้นรุ่งเรืองเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ทั้งในดินแดนเอเชียและดินแดนอื่น ก็ต่างมีผู้ให้ความสนใจและนับถือ บางอย่างในคำสอนของท่านนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้กับชีวิตในปัจจุบันได้ จึงไม่แปลกที่ผู้คนจำนวนมากจะให้ความนับถือ เพราะ คำสอนของท่านคือการทำให้เรามีความสุข และเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ ดั่งคำกล่าวที่ว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นช่างเหมาะสมกับตัวท่านที่กลายเป็นมหาศาสดาของโลกอย่างแท้จริง….
มหาศึกคนชนเทพ ศากยมุณี (Record of Ragnarok) ep.2
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Keywordsfun และ Foong-Trending