เปิดประวัติที่มาของวัน “April Fool’s Day” หรือ “วันโกหก” วันสุดแสบแสนตลกของผู้คนทั่วโลก!
วัน “April Fool’s Day” หรือ “วันโกหก” นั้นตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ผู้คนจากทั่วโลกต้องคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงสิ่งที่ได้ยินมาเป็นพิเศษ เพราะในวันนี้เองจะมีเรื่องแต่ง เรื่องหลอกพุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนก็ตาม โดยจุดประสงค์ในวันนี้คือสร้างเสียงหัวเราะเมื่อผู้ได้ยินกับรู้ที่หลังว่าเรื่องเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริง และว่ากันว่าประเพณีสุดแปลกนี้แรกเริ่มเดิมทีนั้นได้จัดขึ้นในแถบทวีปยุโรป แต่พอมีระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาก็ทำให้วันนี้แพร่หลายจนได้รับความนิยม และในประเทศไทยเราก็ด้วยเช่นกันที่รับเอาวัฒนธรรมอันแสนสนุกนี้มาใช้เพื่อทำให้วันที่ 1 เมษายน กลายเป็นวันสุดตลกนั่นเอง และในบทความนี้เราก็จะขอนำพาคุณผู้อ่านไปพบกับ “เปิดประวัติที่มาของวัน “April Fool’s Day” หรือ “วันโกหก” วันสุดแสบแสนตลกของผู้คนทั่วโลก!” นั้นจะมีที่มาอย่างไร เชิญรับชมรับอ่านกันได้เลยจ้า..
วันโกหก หรือ April Fool’s Day นั้นนักประวัติศาสตร์ได้เชื่อว่าวันนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลฮิลาเรียของโรมันที่จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม เพราะเทศกาลนี้ผู้คนจำนวนมากจะออกมาแต่งกายตลก ๆ พร้อมกับมีการละเล่นที่เรียกเสียงหัวเราะของผู้คน ซึ่งก็คล้ายคลึงกับวันโกหกเป็นอย่างมาก และในยุคต่อมาก็ได้มีบันทึกไว้ในหนังสือ “ตำนานแคนเตอร์บรี” ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) ซึ่งเล่าว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชี และพระ (Nun’s Priest’s Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น และแน่นอนว่าในสมัยก่อนการทำสำเนาไม่ได้มีเครื่องพิมพ์อย่างสมัยนี้ พวกเขาจะต้องคัดลอกด้วยมือล้วน ๆ ซึ่งก็มีโอกาสสูงที่การคัดลอกจะผิดพลาดได้ และทำให้การระบุวันที่ จากเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นก็คือวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนยุคหลังมาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็น เรื่องโกหก ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับ วันที่ 1 เมษายนเสียด้วย
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีจากนักประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าวัน April Fool’s Day ที่เชื่อมโยงกับวันที่ 1 เมษยนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับวันที่ 1 มกราคม โดยในปีค.ศ. 1562 “โป๊ป เกรกอรี” ได้กำหนดปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ โดยให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่แทนวันที่ 1 เมษายน และมีกำหนดให้เปลี่ยนใหม่นับแต่นั้น แต่ทว่าในสมัยก่อนการสื่อสารนั้นยังไม่พัฒนาจึงทำให้ในบางพื้นที่ที่ห่างไกลยังไม่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ จึงมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนแทน
ซึ่งสิ่งนี้เองที่ในเวลาต่อมาก็กลายเป็นเรื่องขบขันของผู้คนที่ผ่านมาเห็นโดยเฉพาะเหล่าพ่อค้าเร่ที่เดินทางมาพบเข้า บ้างก็พยายามที่จะอธิบายว่าวันขึ้นปีใหม่ได้ปรับเปลี่ยนแล้ว แต่ก็มีบางคนที่ไม่เชื่อและยังเฉลิมฉลองต่อไป จึงเป็นที่มาของคำดูถูกเย้ยหยันคนกลุ่มนี้ว่าเป็นพวก “เมษาหน้าโง่” (April Fools) นั่นเอง.
จนมาถึงในยุคปัจจุบันวันที่ 1 เมษายน หรือ April Fool’s Day ก็กลายเป็นหนึ่งวันที่ผู้คนจะมาล้อเลียน แต่งเรื่องเพื่อให้ผู้คนเชื่อ และจะเฉลยในวันถัดไปเพื่อให้คนที่ถูกหลอกรู้สึกตลก สนุกสนานกัน และแน่นอนว่าในวันโกหกนี้เองในหลักสากลจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ไม่เป็นอันตราย และไม่เกี่ยวกับความตาย ผู้คนที่เข้าร่วมในวันนี้จะสร้างเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมที่สุดขึ้นมา เพื่อสร้างความสนุกสนานและทำให้ทุกคนหัวเราะเพียงเท่านั้น
แต่ก็มีบางคนที่ก็เกลียดวันนี้ไม่มากก็น้อยเลยเหมือนกัน เพราะแน่นอนว่าทุกคนนั้นไม่มีใครอยากจะถูกหลอกกันอยู่แล้ว แต่ถ้ามองในมุมที่สร้างเสียงหัวเราะวันนี้ก็ถือได้ว่าเป็นวันที่สนุกอีกวันหนึ่งเลยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้วพวกเราก็ควรที่จะเล่นกันแค่พอหอมปากหอมคอ อย่าเกินเลยไปจากพื้นฐานที่ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น มิฉะนั้นแล้วจะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ 2560 มาตรา 14 มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับกันเลยทีเดียวล่ะ…
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ QuotesAboutSmile และ Keywordsfun