“วันเข้าพรรษา” ประวัติที่มา ความสำคัญ
ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับเทศกาล “วันเข้าพรรษา” ที่ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 ที่จะถึงนี้ หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจถึงที่มาและความสำคัญของวันสำคัญดังกล่าว ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกันไปพร้อมๆกันเลยค่ะ
วันเข้าพรรษา 2565 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พระสงฆ์นิกายเถรวาทจะจำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 และสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
ที่มาของ วันเข้าพรรษา
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับที่มาของวันเข้าพรรษากันก่อนค่ะ แน่นอนว่าเป็นสำคัญของพุทธศาสนาก็ต้องมีที่มาที่ไม่ธรรมดาอยู่แล้ว พิธีเข้าพรรษาของ พระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนามีเรื่องเล่าว่า ในประเทศอินเดียในสมัยโบราณ เมื่อถึงฤดูฝน น้ำมักท่วม ผู้ที่สัญจรไปมาระหว่างเมือง เช่น พวกพ่อค้า ก็หยุดเดินทางไปมาชั่วคราว พวกเดียรถีย์และปริพาชกผู้ถือลัทธิต่าง ๆ ก็หยุดพัก ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดฤดูฝน ทั้งนี้เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทางเป็นหลุมเป็นโคลน เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกเผยแพร่พระศาสนาต่อไป นับเป็นพุทธจริยาวัตรและในตอนแรกที่ยังมีพระภิกขุสงฆ์ไม่มาก พระภิกขุสงฆ์ปฏิบัติประพฤติตามพระพุทธเจ้า ความครหานินทาใด ๆ ก็ไม่เกิดมีขึ้นจึงไม่ต้องทรงตั้งบัญญัติพิธีอยู่จำพรรษา ครั้นพอพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปกว้าง พระภิกขุสงฆ์ได้เพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้น
วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีพระภิกขุ ๖ รูป ฉัพพัคคีย์ แม้เมื่อถึงฤดูฝน ก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัด และสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้เกิดความเสียหายและตายไป ประชาชนจึงพากันติเตียนว่าไฉนพระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ตลอดจนทั้งสัตว์หลายตายจำนวนมาก แม้พวกเดียรถีย์และปริพาชก ก็ยังหยุดพักในฤดูฝนหรือจนแม้แต่นกก็ยังรู้จักทำรังเพื่อพักหลบฝน เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ห้ามมิให้พระภิกษุเที่ยวไปค้างคืนที่อื่น หากมีธุระกิจเป็นอันชอบด้วยพระวินัย จึงไปได้ด้วยการทำสัตตาหกรณียะ คือต้องกลับมาที่พักเดิมภายใน ๗ วัน นอกจากนั้นห้ามเด็ดขาด และปรับอาณัติแก่ผู้ฝ่าฝืนล่วงละเมิดพระบัญญัติพิธีการปฏิบัติในวันเข้าพรรษา มีความเป็นมาดังกล่าวนี้
การเข้าพรรษาตามพระวินัย มี 2 แบบ ได้แก่
- เข้าพรรษาตามปกติ เรียกว่า “ปุริมพรรษา” – เริ่ม แรม 1 ค่ำ เดือน 8 หากมีเดือน 8 สองหนก็จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็จะมีสิทธิ์รับกฐิน
- เข้าพรรษาหลัง เรียกว่า ปัจฉิมพรรษา – เริ่ม แรม 1 ค่ำ เดือน 9 และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในกรณีที่พระภิกษุติดกิจต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัยให้ไม่สามารถเข้าพรรษาในรอบแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ได้
กรณีพระภิกษุต้องออกไปจำพรรษาที่อื่น สามารถขออนุญาตทำได้ เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” และต้องกลับมาภายใน 7 วัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาด ไม่ถือว่าอาบัติ ได้แก่
- พระภิกษุต้องดูแลบิดามารดาที่เจ็บป่วย
- ทำสังฆกรรม อาทิ จัดหาอุปกรณ์ซ่อมกุฏิที่ชำรุด
- ทายกนิมนต์ให้ไปทำบุญค้างคืน
พิธีกรรมของ พุทธศาสนิกชน อันเนื่องในวันเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนมีการกระทำบุญตักบาตรกัน ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔ – ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และขนมที่นิยมทำกันในวันเข้าพรรษาได้แก่ ขนมเทียน และท่านสาธุชนที่มีความเคารพนับถือพระภิกษุวัดใด ก็จัดเครื่องสักการะ เช่น น้ำตาล น้ำอ้อย สบู่ แปรง ยาสีฟัน พุ่มเทียน เป็นต้น นำไปถวายพระภิกษุวัดนั้น ยังมีสิ่งสักการะบูชาที่พุทธศาสนิกชนนิยมกระทำกันเป็นงานบุญน่าสนุกสนานอีกอย่างหนึ่งคือ “เทียนเข้าพรรษา” บางแห่งจะมีการบอกบุญเพื่อร่วมหล่อเทียนแท่งใหญ่ แล้วแห่ไปตั้งในวัดอุโบสถ เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอด ๓ เดือน การแห่เทียนจำนำพรรษาหรือเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นงานเอิกเกริก มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน และเทียนนั้นมีการหล่อหรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงาม
เทศการเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษ พุทธศาสนิกชนจึง ขะมักเขม้นในการบุญกุศลยิ่งกว่าธรรมดาบางคนตั้งใจรักษาอุโบสถตลอด ๓ เดือน บางคนตั้งใจฟังเทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา มีผู้ตั้งใจทำความดีต่าง พิเศษขึ้น ทั้งมีผู้งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาลเข้าพรรษา และคนอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษาตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกละอายมุกและความชั่วสามานย์ต่าง ๆ โดยตลอดไป จึงนับเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งอันเป็นมงคล
ความสำคัญวันเข้าพรรษา
ต่อมาจะเป็นในส่วนของความสำคัญค่ะ ด้วยความที่เป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันของพุทธศาสนา แน่นอนว่าชาวพุทธอย่างเราต้องให้ความสำคัญอย่างแน่นอน ในวันเข้าพรรษาที่มักตรงกับฤดูการเกษตรนี้ชาวบ้านจะปลูกพืชผล และภิกษุสงฆ์จะจำวัดเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ร่วมบำเพ็ญกุศล ตักบาตร ถวายเทียนพรรษา รักษาศีล โดยความสำคัญของวันเข้าพรรษามี 5 ข้อ ดังนี้
- พืชผลที่ชาวบ้านปลูกเป็นต้นกล้า จะได้เติบโตแข็งแรงไม่ถูกทำลายจากกรณีกิจของพระสงฆ์ที่ต้องเดินทางรับกิจนิมนต์
- ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อนจากการเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- พระภิกษุสงฆ์จะได้ฝึกปฏิบัติธรรมสำหรับตนเองเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรม
- บวชเรียนบุตรหลานที่ถึงวัยบวช หรือบรรพชา เพื่อเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศล ถือศีล เจริญภาวนา ฟังเทศน์ ถวายเทียนพรรษา และถวายผ้าอาบน้ำฝน
โดยวันเข้าพรรษา นอกจากจะเป็นช่วงที่พระภิกษุอยู่ประจำที่ดังกล่าวแล้ว ยังก่อให้เกิดประเพณีสำคัญขึ้นอีก 2 ประเพณีคือ ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน และ ประเพณีแห่เทียนพรรษา
หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวาย ทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่วบำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ “วิรัติ”คำว่า “วิรัติ” หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปวิรัติ การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออกได้เป็น 3 ประการ คือ
สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา
สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง
สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่างๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะวันสำคัญใดก็ตาม เราทุกคนก็สามารถเป็นคนอยู่ในศีลในธรรมได้ทุกวันเลยนะคะ หากทุกคนชอบบทความนี้ สามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นกำลังใจให้กันได้เลยนะคะ แล้วเจอกันบทความหน้าค่ะ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ QuotesAboutSmile และ Keywordsfun