“แฮงค์” คือ อาการเมาค้างที่เกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จะเกิดขึ้นเมื่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลง ซึ่งมักจะเป็นช่วงเช้าอีกวันหลังจากดื่มหนักในตอนกลางคืน โดยฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง โดยอาการเมาค้างจะแสดงออกมาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องดื่มที่ดื่มเข้าไป เช่น กระหายน้ำ มึนหัว ปวดหัว พะอืดพะอมตลอดเวลา อยากอาเจียนออกมาให้หมด ซึ่งถ้าหากร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ก็จะส่งผลให้อาการเมาค้างมามากขึ้นด้วยเช่นกัน
ผู้ดื่มแอลกอฮอล์บางรายอาจมีอาการเมาค้างมากกว่ารายอื่น แต่ถ้าหากเกิดอาการเมาค้างที่รุนแรงมาก อาจเป็นสัญญาณของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายอาจส่งผลต่อชีวิต เช่น อาเจียนหนัก มีการชัก หายใจไม่ปกติ ตัวเขียว ผิวซีด หมดสติ ซึ่งหากมีปรากฏอาการดังกล่าว ต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเมาค้าง
ยีนของแต่ละคนส่งผลต่อการดูดซึมแอลกอฮอล์ที่ได้รับเข้าไป ผู้ดื่มบางรายถึงแม้ว่าจะดื่มเข้าไปในปริมาณที่น้อย แต่ก็อาจมีอาการมากกว่าผู้ที่ดื่มเยอะกว่าได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเมาค้าง มีดังนี้
- ดื่มตอนท้องว่าง : การดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง จะทำให้กระเพาะอาหารดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าร่างกายได้เร็วขึ้น
- ใช้สารเสพติดร่วม : การใช้สารเสพติด หรือสูบบุหรี่ระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเมาค้างมากขึ้นกว่าเดิม
วิธีป้องกันอาการเมาค้าง
- ทานรองท้องก่อน : การรับประทานของกินเล่น หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต หรือไขมันรองท้องเสียก่อน เพราะจะช่วยให้ร่างกายสามารถชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์ได้ รวมถึงดื่มน้ำเปล่าระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มให้ช้าลง : พยายามอย่างดื่มทีเดียว หรือดื่มทีละเยอะๆ ให้ดื่มเพียงหนึ่งแก้ว หรือในปริมาณที่น้อยกว่านั้นในแต่ละชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ระหว่างดื่ม : เนื่องจากจะทำให้นอนไม่หลับ อีกทั้งการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดอาการเมาค้างมากขึ้น
วิธีแก้อาการเมาค้าง
- กาแฟ : คาเฟอีนในกาแฟจะช่วยกระตุ้นคุณให้ฟื้นจากอาการมึนหัว และขับปัสสาวะ ทำให้แอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย เช่น กาแฟดำ
- น้ำมะนาว : น้ำมะนาวผสมน้ำอุ่น หรือน้ำผึ้ง สามารถช่วยแก้อาการเมาค้างได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณสารตกค้างในตับอีกด้วย
- เครื่องดื่มวิตามิน : เครื่องดื่มวิตามินที่มีส่วนผสมของวิตามินบี และวิตามินซี เป็นตัวช่วยอย่างดี เพราะวิตามินดังกล่าวสามารถช่วยลดอาการเมาค้างได้ ซึ่งควรดื่มน้ำเปล่าควบคู่ไปด้วย เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปจากการดื่มหนัก
- น้ำขิง : เครื่องดื่มสมุนไพร สามารถช่วยแก้อาการเมาค้างได้เป็นอย่างดี อีกทั้งน้ำขิงยังช่วยฟื้นฟูร่างกาย และป้องกันอาการปวดหัวที่จะตามมาได้ในภายหลัง นอกจากนั้นยังเป็นตัวช่วยในการขับแอลกอฮอล์ออกมาทางระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี
- พักผ่อนให้เพียงพอ : ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอหลังจากการดื่มหนัก เพราะจะช่วยให้อาการเมาค้างหายไปเมื่อตื่นขึ้นมา
- ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเบาๆ เช่น วิ่ง วิดพื้น ให้ร่างกายสูญเสียเหงื่อ เป็นการขับแอลกกอฮอล์ออกมาจากร่างกาย สามารถช่วยแก้อาการเมาค้าง อีกทั้งยังทำให้ร่างกายรู้สึกกระปี้กระเปร่าขึ้นอีกด้วย
ถึงแม้อาการเมาค้างจะสามารถแก้ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนสามารถดื่มแอลกอฮอล์มากแค่ไหนก็ได้ เพราะสุดท้ายก็มีวิธีแก้ เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า อาการเมาค้างของแต่ละคน มักจะมีอาการที่แตกต่างกันไป สามารถเกิดขึ้นได้มากหรือน้อยแล้วแต่ร่างกายของแต่ละคน ดังนั้นหากมีโอกาสดื่มแอลกอฮอล์ ก็ขอแนะนำให้ทุกคนดื่มแต่น้อย เอาแต่พอดี อย่าขาดสติจนเดือดร้อนร่างกายในภายหลัง
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Keywordsfun และ quotesaboutsmile