เปิดประวัตินิทานของ “อีสป” ต้นตำรับนิทานคติสอนใจผู้เป็นตำนานของโลกแห่งนิทาน
ในช่วงที่สมาร์ทโฟนหรือระบบอินเตอร์เน็ตยังไม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันนั้น เราต่างก็รู้ดีว่าในสมัยก่อนนั้นมีกิจกรรมที่ให้เล่นกับเพื่อน ๆ กันอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดต่าง ๆ หรือการละเล่นพื้นบ้านอย่างวิ่งไล่จับ เล่นซ่อนแอบฯลฯ แต่ทว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นกิจกรรมที่เราไว้เล่นนอกบ้านกับเพื่อนฝูงเสียเป็นส่วนมาก และเมื่อเรานึกถึงกิจกรรมที่บ้านโดยเฉพาะเวลากลางคืน ผู้เขียนเชื่อเลยว่าหลายคนมักนิยมที่จะอ่านนิทานก่อนนอนกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนิทานอีสป ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและคติสอนใจต่าง ๆ ที่ให้ทั้งแง่คิด การวางตัว จนต้องยอมรับเลยว่านิทานเป็นสิ่งที่สำคัญในการเสริมสร้างจินตนาการอย่างแท้จริง และในบทความนี้เองผู้เขียนก็จะขอนำพาคุณผู้อ่านไปย้อนเวลาทำการรู้จักกับนิทานอีสปว่ามีที่มาอย่างไร และใครกันคือผู้แต่งของผลงานวรรณกรรมสุดอมตะชิ้นนี้กันได้เลยใน “เปิดประวัตินิทานของ “อีสป” ต้นตำรับนิทานคติสอนใจผู้เป็นตำนานของโลกแห่งนิทาน” เชิญรับชมรับอ่านกันได้เลยจ้า.
นิทานของอีสปเป็นนิทานที่ถูกแต่งขึ้นโดยทาสชาวกรีกที่มีขื่อว่า อีสป (Aesop) ที่นักวิชาการต่างลงความเห็นว่าเขานั้นน่าจะเกิดอยู่ในช่วง 620 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นทาสโดยกำเนิดตามกฏหมายของชาวกรีก โดยเขาได้เป็นทาสคนแรกของ Xanthus ชาวเกาะซาโมส ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะถูกขายให้ Jadmon และเจ้านายคนที่สอง Jadmon คนนี้เองที่เป็นผู้มอบอิสรภาพเป็นรางวัลแก่อีสป โดยเห็นแก่ความเป็นผู้ที่มีไหวพริบและสติปัญญาล้ำเลิศ
ในหลายสำนักต่างเชื่อว่าอีสปนั้นเกิดที่เมืองซาร์ดิซ (Sardis) เมืองหลวงของราชอาณาจักรลีเดีย (Lydia) บนแผ่นดินใหญ่ด้านตะวันตกของดินแดนอนาโตเลียหรือที่เรียกว่าเอเชียไมเนอร์ หรือไม่ก็เกาะซาโมส ในทะเลอีเจียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้กับชายฝั่งของประเทศตุรกี ถึงแม้ว่าจะระบุได้อย่างไม่ชัดเจนมากนักว่าบ้านเกิดจริง ๆ ของเขานั้นอยู่ที่ไหน แต่ทว่านักประวัติศาสตร์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าอีสปนั้นต้องเกิดอยู่ในยุคอาร์เคอิกอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นช่วงที่การปกครองระบอบกษัตริย์เริ่มเสื่อมสลาย ขณะที่การปกครองแบบนครรัฐเริ่มพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคกรีกถัดมาคือยุคคลาสสิค
ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเมืองต่าง ๆ อยู่ในอำนาจของผู้นำที่ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว หรือที่ทุกคนมักเรียกว่า “ทรราช” ผู้ปกครองแสนชั่วร้ายกดขี่ข่มเหงประชาชนและยึดอำนาจด้วยมิชอบในกฏหมาย ในครานั้นนับเป็นช่วงยุคมืดของแต่ละเมือง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกรีกจึงมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยไปเป็นแบบนครรัฐ และในนครรัฐนั้นนี่เองที่ให้สิทธิพิเศษแก่เสรีชน นั่นคือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะได้อย่างเสรี และสิ่งนี้เองที่ทำให้ ‘อีสป’ ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะศิลปินที่บอกเล่าเรื่องราวคติสอนใจ ผ่านในรูปแบบนิทานที่แสนสนุกจนถูกกล่าวถึงอย่างมากมาย นอกจากนี้อีสปเองยังออกเดินทางเพื่อสอนสั่งผู้คนผ่านนิทานนี้ไปทั่วทุกเมืองในอาณาจักร.
จนกระทั่งในเวลาต่อมาตัวของอีสปก็ได้มีโอกาสมาทำงานให้กับทางราชสำนักของกษัตริย์เครซุส ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลิเดียของเอเซียไมเนอร์ และด้วยสติปัญญา ความรอบรู้พร้อมกับลูกเล่นในการเล่านิทาน จึงทำให้ตัวของกษัตริย์เครซุสรู้สึกประทับใจ และแต่งตั้งให้เขาเป็นทูตประจำราชสำนักที่คอยออกไปตามเมืองต่าง ๆ ใต้การดูแลเพื่อสอนสั่งและให้ความรู้ผู้คนผ่านเรื่องเล่านิทานของอีสป
ซึ่งนิทานของอีสปนั้นก็ได้สอนให้ชาวเมืองทั้งหลายต่างตระหนักถึงการใช้ชีวิต เช่นเมืองโครินธ์ อีสปได้ใช้นิทานของเขาเป็นสื่อตักเตือนชาวเมืองถึงภยันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กฏหมู่แทนกฏหมาย และที่กรุงเอเธนส์เขาก็ได้ใช้นิทาน เรื่อง “กบเลือกนาย” เป็นสื่อชักชวนให้ชาวเมืองเลื่อมใสในการปกครองของปีซัสเตรตัส เป็นผลสำเร็จ และนิทานของอีสปเองยังมีอีกหลายเรื่องที่ให้ข้อคิดที่ดีไม่ว่าจะเป็น “ชาวนากับงูเห่า” ที่ให้ข้อคิดว่า ความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะไม่ผูกมัดคนเนรคุณ (The greatest kindness will not bind the ungrateful) , “หมาป่ากับนกกระสา” ที่สอนให้รู้ว่า การรับใช้คนชั่ว อย่าคาดหวังว่าจะได้รับรางวัลตอบแทน” (In serving the wicked, expect no reward) และ “หมาป่ากับลูกแกะ” ที่สอนว่า ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทราชได้เสมอ” (The tyrant will always find a pretext for his tyranny) เป็นต้น
หลังจากที่ออกเดินทางสั่งสอนผู้คนมาได้สักระยะอีสปก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เขาได้สอนให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องต่าง ๆ ทั้งการใช้ชีวิต ความสุข ความสนุก ที่แฝงด้วยคติสอนใจ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเขาได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ราชทูตที่เมืองเดลฟิ ตามคำสั่งของกษัตริย์เครซุส และเมืองแห่งนี้เองอีสปได้เล่านิทานโดยใช้สัตว์เป็นสัญาณบอกความจริง เกี่ยวกับความอยุติธรรมทางการเมืองให้ชาวเมืองได้รับรู้!
ซึ่งการกระทำของเขาได้จุดไฟแห่งความโกรธแค้นให้โหมกระหน่ำในหัวใจของนักการเมืองแห่งเดลฟิอย่างหนัก จนทำให้นักการเมืองเหล่านี้ต่างคิดแก้แค้นอีสป ด้วยการแอบนำเอาขันทองศักดิ์สิทธิ์แห่งวิหารเทพอะพอลโลไปใส่ไว้ในกระเป๋าสัมภาระของเขา พร้อมทั้งกล่าวหาว่าเขาเป็นขโมย จนนำมาสู่การประหารอีสปด้วยข้อหาว่าเป็นหัวขโมยและทำการลบลู่เทพอะพอลโล
ส่งผลให้ชาวเมืองเดฟิจำนวนไม่น้อยรู้สึกโกรธแค้นจนได้โยนเขาลงมาจากหน้าผาสูงจนถึงแก่ความตายไปในที่สุด และเป็นการปิดตำนานของยอดนักเล่านิทานนามว่ส ‘อีสป’ แต่ทว่าหลังจากนั้นได้ไม่นานชาวเมืองเดลฟิก็ได้รับโทษทัณฑ์อย่างสาสม เพราะการสังหารทูตนั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อข้อบัญญัติกฏหมายอย่างร้ายแรง ไม่นานประชาชนชาวเดลฟิก็ได้รับโทษทัณฑ์ หรือที่ผู้คนเรียกในเวลาต่อมาว่า “The blood of Aesop” หรือ ‘โลหิตของอีสป’ นั่นเอง.
จบไปแล้วกับการย้อนประวัติไปรู้จักกับสุดยอดนักเล่านิทานในตำนาน ‘อีสป’ ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน และทำไมเขาถึงได้โด่งดังเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องที่เล่ามานี้นั้นเป็นส่วนหนึ่งในข้อมูลการสันนิษฐานมากมายของนักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับเป็นจำนวนมาก แต่ก็อาจจะมีบางส่วนที่ตกหล่นไปหรือผิดแปลกจากที่เคยได้อ่าน หรือรับชมมา เพราะประวัติของอีสปนั้นค่อนข้างคลุมเครือมีอ้างอิงกันอยู่หลายอย่างมากมาย แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่ได้รับการยอมรับเหมือนกันนั่นคือ ‘นิทานอีสป’ ที่ไม่ว่าจะผ่านมาสักกี่พันปีเรื่องราวก็ยังเป็นที่เล่าขานต่อไป พร้อมกับคติสอนใจที่เป็นประโยชน์เมื่อมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของเรานั่นเอง บทความประวัติของอีสปก็ขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ ถ้าหากว่ามีสิ่งใดที่ผิดพลาดไป ผู้เขียนก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และไว้พบกันใหม่ในเรื่องเล่าครั้งหน้า จะมีอะไรบ้างนั้นไว้รอติดตามกันนะ..
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ QuotesAboutSmile และ Keywordsfun