ทำความรู้จักกับ ฟาสต์แฟชั่น ( Fast Fashion )
เพราะว่าภาพลักษณ์มีความสำคัญ รวมถึงผู้คนในยุคสมัยนี้ต่างก็ชอบแต่งตัว มีความสุขกับการชอปปิ้งเลือกเสื้อผ้า หันไปทางซ้ายหรือขวาตามที่ต่างๆก็จะพบเจอแต่คนหนุ่มสาวที่แต่งตัวดี ดูมีสไตล์ ตามแฟชั่นกันทั้งนั้น แต่หลายคนคงยังไม่ทราบ ว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นที่คุณสวมใส่ เป็นอีกหนึ่งต้นตอของการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเสื้อผ้า Fast Fashion นั่นเอง
ในวันนี้เราจะพาเพื่อนๆไปทำความรู้จักกับอุตสาหกรรม Fast Fashion กันค่ะ สำหรับใครที่ยังไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน รวมถึงคนที่มีความสนใจอยากรู้รายละเอียด ก็สามารถติดตามได้จากข้อมูลดังนี้ค่ะ
Fast Fashion คืออะไร?
ในยุคสมัยนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก Fast Fashion หรือที่แปลตรงตัวก็คือ แฟชั่นรวดเร็ว หมายถึง เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นต่างๆที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว ในราคาต่ำที่สุด ขณะที่ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อมากๆ และใส่ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งแล้วไปซื้อตัวใหม่แทน ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่ะ
ในสมัยก่อนมีแต่คนรวยหรือชนชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงเสื้อผ้าแฟชั่น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ประชากรกลุ่มชนชั้นกลางมีกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอแฟชั่นเสื้อผ้าบนรันเวย์หรือโฆษณาก็ทำให้ผู้คนอยากตามเทรนด์ ทำให้ฟาสต์แฟชั่นเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางได้ทันเวลา โดยต้องเป็นราคาที่พวกเขาจับต้องได้เช่นกัน
เมื่อความต้องการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การผลิตจำเป็นต้องใช้ความรวดเร็วและได้จำนวนที่มาก (mass product) ตามไปด้วย แน่นอนว่าการจะทำทั้งสองสิ่งให้เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องกดต้นทุนให้ต่ำลง ทั้งคุณภาพของวัสดุและแรงงาน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนต่อต้านฟาสต์แฟชั่น เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสินค้าที่ไร้คุณภาพ เน้นใส่ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งไป นอกจากนี้ยังใช้เวลาในการออกแบบเพียงแค่สั้นๆ หรือถอดแบบมาจากเสื้อผ้าที่กำลังเป็นเทรนด์ในขณะนั้น ใช้เวลาในการผลิตเพียงไม่กี่วัน คนทั่วไปก็สามารถเป็นเจ้าของแบรนด์หรูหราในราคาที่ถูกได้ และการออกคอลเลกชั่นใหม่ๆอยู่ประจำ ก็ทำให้คนอยากซื้อใหม่เรื่อยๆเพื่อตามเทรนด์ให้ทันเพียงเท่านั้น
ช้อปปิ้งอย่างไรโดยที่ไม่สนับสนุนฟาสต์แฟชั่น
หลายคนอาจมีคำถามขึ้นมาว่า แล้วถ้าไม่ให้ซื้อ Fast Fashion แล้วจะให้ซื้ออะไร? ก็ในเมื่อมีเงินไม่พอที่จะซื้อแบรนด์อื่น เข้าใจว่ามันทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ทำอย่างไรได้ที่รายได้ตอนนี้ซื้อได้แค่ของที่มันถูกและดีอย่าง Fast Fashion
ประเด็นคือ ทุกคนสามารถซื้อ Fast Fashion ได้ เพียงแต่ควรที่จะซื้อเมื่อจำเป็น และแน่ใจว่าจะใช้มันไปอีกหลายครั้ง หลายปี เพราะทางออกของ Fast Fashion ไม่ใช่การหยุดซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion แล้วไปซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมหรือแบรนด์ที่โฆษณาว่ารักษ์โลก (Sustainable Brand) แต่ทางออกคือการใช้ซ้ำ ไม่ซื้อเพิ่ม ใช้มือสองหรือแลกกับเพื่อน เพราะการชอบของถูกและดีไม่ผิด แต่ถ้าชอบซื้อของถูกและดีตลอดเวลาแล้วใช้ไม่คุ้มค่านั่นต่างหากคือ Fast Fashion
- หยุดซื้อเสื้อผ้าใหม่เพราะจะไปออกงาน ใครที่ชอบซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกครั้งเวลาต้องออกงาน ไปเที่ยว เยี่ยมญาติ ไปคอนเสิร์ต เลี้ยงรุ่น หรือแม้แต่จะไปเจอเพื่อนเฉยๆ เป็นการสนับสนุน Fast Fashion ทั้งสิ้น ทางที่ดีควรใส่เสื้อผ้าที่เรามีอยู่แล้ว งดซื้อเพิ่มเพราะเทรนด์ที่กำลังมาแรง หรือเพราะมันลดราคา 70% ซื้อ 1 แถม 1 หากทุกคนบนโลกพร้อมใจกันซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกครั้งเมื่อต้องไปเที่ยว ใส่เพื่องานวันเดียวเเล้วก็ไม่ได้ใส่อีก จะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมแค่ไหน และจะสร้างขยะมากขนาดไหน
- ใส่เสื้อผ้าซ้ำ บางคนใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวแล้วไม่ใส่ซ้ำอีกเลย เพราะไม่อยากให้คนอื่นเห็นว่าใส่เสื้อซ้ำ หรือกลัวคนอื่นจะทักว่าทำไมใส่เสื้อซ้ำ ภาพลักษณ์จะดูไม่คูลเวลาลง Instagram ทางที่ดีคือควรหันมามิกซ์แอนด์แมทช์ เพิ่มระดับความครีเอทีฟกับเสื้อผ้าที่เรามีอยู่ล้นตู้ จะดีกว่าการซื้อใหม่ให้เกิดขยะไปเรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุด
- ใช้ของมือสอง ถ้าทุกคนช่วยกันลดการช้อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่และใช้ของมือสองแทน เราจะสามารถหยุดวงจรการผลิต Fast Fashion ได้หลายเปอร์เซ็นต์ หันไปช้อปปิ้งที่ตลาดนัดโซนมือสอง ร้านของมือสองคุณภาพดีๆ หรือในกลุ่มออนไลน์ขายเสื้อผ้ามือสองในกลุ่มเฟซบุ๊ก ซื้อมาแล้วก็ทำความสะอาดให้สบายใจ แถมราคาก็ถูกกว่าซื้อมือหนึ่ง ประหยัดเงินได้ และยังเป็นการไม่สนับสนุน Fast Fashion อีกด้วย
สุดท้ายนี้ ฟาสต์แฟชั่น ( Fast Fashion ) อาจจะเป็นกระแสที่หลายคนมองข้ามถึงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศที่อาจเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่ถ้าหากเพื่อนๆสามารถเลือกซื้อเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็น และรู้จักการประยุกต์ มิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้า ศึกษาแฟชั่นแบบผสมผสาน เพื่อลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ ประหยัดทั้งเงิน ทั้งช่วยโลกได้อีกด้วยนะคะ ดังนั้นอย่าลืมนำไปปรับใช้กันนะคะ ถือเป็นการช่วยกันคนละแรง ขอบคุณสำหรับการอ่านจนจบนะคะ แล้วเจอกันในบทความถัดไปค่ะ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Keywordsfun และ quotesaboutsmile