“ยิ่งใช้ยิ่งได้คืออะไร” ชี้แจงกันชัดๆ วันที่ 21 มิ.ย. 2564 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการลงทะเบียนโครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ ที่เริ่มวันนี้เป็นวันแรกตั้งแต่เวลา 06.00 น.ที่ผ่านมา ว่า โครงการ “ยิ่งใช้ ยิ่งได้” สร้างความสับสนให้กับประชาชนจำนวนไม่น้อยว่ามันคืออะไร มีเงื่อนไขอะไร จึงขอสรุปสาระและเงื่อนไขสำคัญของโครงการ ดังนี้
- ประชาชนที่ได้รับสิทธิจะต้องโอนเงินของตัวเอง
เข้าแอป“เป๋าตัง”ของตัวเองก่อน จากนั้นจึงใช้เงินจากแอพเป๋าตังซื้อของ แล้วรัฐบาลจะโอนเงินส่วนลดคืนให้ 10% ของเงินที่ใช้ 40,000 บาท คือ 4,000 บาท และถ้ายิ่งใช้ไปอีก 20,000 บาท รวม 60,000 บาท รัฐบาลจะคืนเงินส่วนลดให้ 15% ของเงินที่ใช้ ดังนั้นเงินที่ใช้ 20,000 นี้จะได้เงินคืน 3,000 บาท สรุปคือใช้เงินของตัวเองไป 60,000 บาท รัฐบาลจะคืนเงินส่วนลดให้ 7,000 บาท
- ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้อง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แสดงว่าประชาชนที่ใช้เงินจับจ่ายใช้สอยกับร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่ได้รับเงินส่วนลดนี้จากรัฐบาลตามข้อ 1
- โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้นี้ มีอายุระหว่าง
1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564 แสดงว่ารัฐบาลให้เวลา 90 วันที่ประชาชนจะใช้สิทธิของโครงการนี้ จำนวน 4 ล้านคน! รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าข้อดีของโครงการนี้คือการกระตุ้นให้ประชาชนใช้เงินส่วนตัวเพื่อการจับจ่ายใช้สอย จำนวน 240,000 ล้านบาท (4 ล้านคนๆละ 60,000 บาท) ถ้าใช้เต็มจำนวนและรัฐบาลคืนเงินส่วนลดให้ประชาชน 28,000
ล้านบาท 4 ล้านคนๆละ 7,000 บาท รวมจะมีเงินจำนวน 268,000 ล้านบาท หมุนเวียนในตลาดหรือระบบเศรษฐกิจ โดยหวังว่าจะเกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภคของระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใช้งบประมาณ 28,000 ล้าน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินของตนเองออกมาใช้ 240,000 ล้าน
แนวคิดและวิธีการนี้เหมือนกับธุรกิจค้าปลีกที่ทำรายการส่งเสริมการขายเพื่อผลักดันยอดขายนั่นเอง ข้อที่ต้องระวังคือ การที่ประชาชนนำเงินออกมาใช้ในภาวะที่ยังไม่รู้ว่าวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจจะสิ้นสุดเมื่อไร เท่ากับเป็นการนำเงินที่มีที่ควรจะสำรองไว้สำหรับอนาคตมาใช้ก่อนเท่ากับเป็นการเพิ่ม ความเสี่ยงในอนาคต
กรณีที่เสี่ยงมากคือประชาชนไปกู้เงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยมาใช้เพราะความอยากได้ส่วนลดจากรัฐบาล เพราะจบลงคือประชาชนใช้เงินกู้และเงินส่วนลดของรัฐบาลหมดแล้ว เหลือแต่หนี้ที่ต้องชดใช้เท่านั้น
การกู้เพื่อการบริโภคเป็นอุปนิสัยที่คนไทยจำนวนมากที่ถูกฝึกมานาน จนทำให้หนี้ครัวเรือนสูงมาก ในปัจจุบัน ถ้าผลของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นเช่นนี้ เท่ากับรัฐบาลกำลังกระตุ้นการบริโภคของประชาชน
ด้วยการเสี่ยงให้ประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นเจ้าของสินค้ากลับกลายเป็นคนที่ได้รับประโยชน์ฝ่ายเดียวที่เรียกให้ดูดีว่า“กระตุ้นเศรษฐกิจ”ของประเทศ ส่วนข้อดีของโครงการนี้คือ การกระตุ้นให้ร้านค้าเข้าไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ เท่ากับเป็นการขยายฐานของร้านค้าให้เข้าสู่ระบบภาษีทางตรงมากขึ้น
โครงการนี้ช่วยให้ระบบธุรกิจและการจัดเก็บภาษีเติบโตและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นับเป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลที่จะขยายฐานภาษีซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจ
แต่การกระตุ้นการใช้เงินนี้ต้องไม่นำไปสู่การสร้างหนี้ครัวเรือนของประชาชน สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ในปัจจุบันสูงกว่า 14 ล้านล้านแล้วซึ่งถึงจุดที่เรียกว่าเป็นวิกฤตหนี้ครัวเรือนแล้ว การกำหนดนโยบายสาธารณะในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงเป้าหมายในหลายมิติ ไม่ใช่เน้นเพียงมิติเดียวเช่นโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้นี้ “ความมั่นคงของชีวิตประชาชนต้องมาก่อนเป้าหมายอื่นใด” นี่คือความยากของการเป็นรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤตครับ” ศ.ดร.กนก กล่าวค่ะ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Keywordsfun และ Foong-Trending