ไมโครพลาสติก (Microplastics) อันตรายไม่รู้ตัว
“ไมโครพลาสติก” ภัยร้ายใกล้ตัวกิดจากการแตกหักของสารเคมีใช้ผลิตพลาสติก ที่สลายตัวมาจากขยะพลาสติก เมื่อถุงพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะอยู่ตามสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าผู้บริโภคอย่างมนุษย์เราก็ย่อมได้รับสารพิษและสารเคมีเข้าสู่ร่างกายแบบไม่รู้ตัว
ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร
ไมโครพลาสติก คือ ชิ้นส่วนขนาดเล็กของพลาสติก ที่มีขนาดตั้งแต่ 5 มิลลิเมตร ไปจนถึง นาโนเมตร หรือ พิโคเมตรหรือเล็กเท่ากับขนาดของ แบคทีเรียหรือไวรัส มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- พลาสติกขนาดเล็ก(Primary microplastics) ผลิตขึ้นตามวัตถุประสงค์ เช่น พลาสติกที่ผสมอยู่ใน โฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง ครีมขัดผิว รวมทั้งยาสีฟัน
- พลาสติกที่มีขนาดใหญ่(Secondary microplastics) คือพลาสติกทขนาดใหญ่ที่แตกหักหรือผุกร่อนจนกลายเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งหมายรวมทั้งพลาสติกที่ย่อยสลายได้ก็รวมอยู่ในพลาสติกชนิดนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากพลาสติกชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้เฉพาะเมื่ออยู่บนบก แต่เมื่อลงไปในทะเลจะไม่มีแบคทีเลียคอยช่วยย่อยสลายเนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิต่ำกว่าบนบก
ปัญหาที่แก้ไม่ตกของ ไมโครพลาสติก
ไมโครพลาสติกหลายชนิดทั้งที่มีอันตรายมากและน้อยมีต้นกำเนิดจากพลาสติกที่ผลิตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถุงพลาสติกใส่อาหารทั้งร้อนและเย็น ประกอบด้วยสารโพลีพรอพีลีน ขวดน้ำดื่มประกอบด้วยสารพอลิเอทิลีน เทเรฟธาเรต และ ฟิล์มห่ออาหาร ผลิตจาก โพลี่ไวนิลคลอไรด์ (PVC)
นอกจากนี้ยังกลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยากต่อการเก็บและการกำจัด รวมถึงมีคุณสมบัติที่คงสภาพ ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลพบได้ทั้งในน้ำ และตะกอนดิน หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเอาไมโครพลาสติกเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต
ที่สำคัญไมโครพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่ละลายน้ำ ยังคงเป็นสารพิษปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล เมื่อมนุษย์นำน้ำทะเลมาผลิตเป็นเกลือเพื่อปรุงอาหาร ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่ไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนมากับเกลือด้วย ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ยังไม่มีแบคทีเรียที่พัฒนาตัวเองจนสามารถย่อยสลายพันธะคาร์บอนที่พบในพลาสติกเหล่านี้ได้
ผสมอยู่กับขยะทั้งบนบก และในทะเล
“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” มีการติดตั้งทุ่นกักขยะตามปากแม่น้ำและลำคลองสายหลัก สามารถตรวจดักจับเก็บขยะได้มากมาย เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม ถุงพลาสติก ฝาน้ำ ซึ่งขยะพลาสติกพวกนี้ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปีด้วยซ้ำ ซึ่งในระหว่างการย่อยสลายล่องลอยอยู่ในน้ำทะเลนี้ “ขยะพลาสติกขนาดใหญ่” เมื่อถูกรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดการสลายโครงสร้างเป็นชิ้นเล็กลงกลายเป็น “ไมโครพลาสติก” โดยเฉพาะพื้นที่มหาสมุทรลักษณะน้ำอุ่น เช่น เอเชียแปซิฟิก มักมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่จำนวนมาก
ภาพรวมของขยะมูลฝอยถูกทิ้งทั่วประเทศประมาณ 27.40 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 75,046 ตันต่อวัน เฉลี่ยแต่ละคนสร้างขยะ 1.3 กก.ต่อคนต่อวัน มีขยะพลาสติกปะปนรวมอยู่ราว 2 ล้านตันต่อปี แต่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ หรือรีไซเคิลได้ประมาณ 5 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของพลาสติกทั้งหมดเท่านั้น ส่วนอีก 1.5 ล้านตันต่อปี ถูกนำไปกำจัด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.เผาทำลาย มีโรงงานเผาอยู่ 4 แห่ง คือ ภูเก็ต กทม. ขอนแก่น สมุทรปราการ สามารถเผาได้ประมาณ 2,000 ตันต่อปี 2.การฝังกลบราว 3,000 ตันต่อปี แต่มักเกิดปัญหา “บ่อขยะเต็ม” ถูกนำมากองเป็นภูเขาเลากาไว้ที่นับเป็นการจำกัดไม่ถูกวิธี
อันตรายต่อสุขภาพ
มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ที่กินเม็ดไมโครพลาสติกเข้าไป เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด และมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ อีกทั้ง ยังมีรายงานเกี่ยวกับสารที่เป็นองค์ประกอบและพบการปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติกมักเป็นสารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า ไมโครพลาสติกพลาสติก จะมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า BPA หรือบิสฟีนอลเอ สารตัวนี้จะไปรบกวนการทำงานของระบบในร่างกาย รบกวนการทำงานการปล่อยฮอร์โมนเอสโทรเจน และยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอื่นๆ ที่ยังต้องทำการศึกษากันต่อไป เพราะยังไม่มีการศึกษาลงไปในรายละเอียดว่า ไมโครพลาสติกที่เข้าไปในร่างกายนั้น จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง แต่จากการคำนวณการรับประทานอาหารชนิดต่างๆ เชื่อว่า โดยเฉลี่ยในคนที่ทานอาหารปกติ น่าจะมีไมโครพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหารมากกว่า 10,000 ชิ้น (ขึ้นอยู่กับลักษณะและปริมาณการรับประทานอาหารทะเล)
การขับถ่ายไม่สามารถทำให้ไมโครพลาสติกออกได้หมด หากตกค้างอยู่ภายในร่างกายแล้ว และไมโครพลาสติกมีการแตกตัวเล็กลงจากไมโครเมตร เป็นนาโนเมตร หรือพิโคเมตร หรือเล็กเท่ากับแบคทีเรียหรือไวรัส อาจจะหลุดเข้าไปอยู่ในเส้นเลือดได้ แต่ถ้าเป็นขนาดไมโครพลาสติกหลุดเข้าไปในเส้นเลือดอาจจะไปขวางกั้นเส้นเลือดเราก็ได้ และถ้าไปฝังตามเนื้อเยื่อของเรา อาจจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดมะเร็งเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจใช้เวลานานที่ต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบกันต่อไป
จะเห็นได้ว่าไมโครพลาสติกกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั่วโลกทั้งมนุษย์และสัตว์ ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากเราทุกคนบนโลกในการช่วยกันลดปริมาณขยะทั้งในการผลิตและการใช้ ร่วมกับการกำจัดขยะที่ดี เพื่อรับผิดชอบต่อปัญหาที่ส่งผลกระทบกับทุกคน และสร้างอนาคตใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Keywordsfun และ quotesaboutsmile