ทั่วโลกเฝ้าจับตา ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “มิว(B.1.621)” หวั่นระบาดหนักแทนที่สายพันธุ์เดลตา
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ทาง WHO ได้ประกาศให้ทำการเฝ้าระวัง ไวรัสโควิด19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า “มิว” หรือชื่อเรียกสายพันธุ์ว่า B.1.621 (VUI-21JUL-1) ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศโคลอมเบียในอเมริกาใต้ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ในระหว่างนั้น เชื้อนี้ถูกจัดว่าเป็น “สายพันธุ์ที่น่าสนใจ” และให้ทำการเฝ้าระวัง
จนกระทั่งเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ที่การระบาดของสายพันธุ์นี้ระบาดอย่างหนักขึ้นในประเทศโคลอมเบีย จนกลายเป็นไวรัสสายหลักของประเทศแทนที่สายพันธุ์เดลตาที่เคยระบาดในประเทศ นอกจากประเทศโคลอมเบียแล้ว รายงานยังระบุถึงการแพร่ระบาดออกไปในหลายประเทศทั่วทั้งอเมริกาใต้ จากรายงานของเว็บไซต์ GISAID ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยในการแบ่งปันข้อมูลไวรัสในโรคระบาด ได้ระบุว่า ในตอนนี้ได้มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์มิวไปแล้วกว่า 43 ประเทศทั่วโลก!
ทั้งนี้ WHO ได้รวบรวมผลการทดลองและรายงานว่า โควิดสายพันธุ์มิวเกิดการกลายพันธุ์ในจุดตำแหน่งที่เคยอยู่ในเบต้า แกรมมา อาทิ E484K ซึ่งสามารถหลบภูมิคุ้มกัน หรือดื้อวัคซีนได้ โดยมีทั้งส่วน N501Y ของอัลฟ่าเดิมที่แพร่เร็ว ทั้งนี้การระบาดของสายพันธุ์มิวในตอนนี้ถูกตรวจพบเจอการระบาดที่มากสุดที่โคลอมเบีย มีผู้ติดเชื้อของสายพันธุ์นี้สูงถึง 39% ของผู้ติดเชื้อภายในประเทศ และยังกระจายตัวออกไปทั่วทวีปอเมริกาใต้ ในเอกวาดอร์มีอัตราการติดเชื้อมากกว่า 13% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงมากขึ้น!
การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์มิวที่เกิดขึ้นทั่วโลก
วันที่ 30 สิงหาคม ได้มีการออกมายืนยันจากสื่อของประเทศญี่ปุ่นที่กล่าวถึง ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิว โดยตรวจพบเจอเชื้อจากผู้หญิง 2 คน คนหนึ่งมีอายุ 40 ปี และอีกคนอายุ 50 ปี ทั้งคู่ถูกตรวจพบเชื้อหลังจากกลับมาจากประเทศอังกฤษ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังของญี่ปุ่นเพราะหวั่นกลัวการระบาดระลอกใหม่จะเกิดขึ้น
วันที่ 2 กันยายน ทางด้านศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดใต้หวัน ได้ออกมายืนยัน พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิว เป็นผู้หญิงอายุ 60 ปี ที่กลับมาจากสหรัฐฯ ข้อมูลที่น่าสนใจคือเธอได้รับวัคซีน Pfizer 2 โดสแล้วที่สหรัฐฯ ในรายงานได้บอกว่าเธอไม่มีอาการที่บ่งบอกว่าติดเชื้อ
วันเดียวกันนี่เอง ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมาประกาศถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์มิว ที่กำลังเริ่มระบาดในประเทศสหรัฐฯ ในหลายรัฐในตอนนี้ ซึ่งรัฐที่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้มากที่สุดคือ รัฐอะแลสกา คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 4 จากตัวอย่างเกือบ 4,000 คน
วันที่ 3 กันยายน สื่อฮ่องกงได้ยืนยันผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิว 3 รายแรกของฮ่องกง เป็นผู้หญิง 2 ชาย 1 โดยที่ชายอายุ 19 และหญิงอายุ 22 ทั้งคู่ถูกตรวจพบเชื้อหลังจากกลับมาจากประเทศโคลอมเบีย ส่วนอีกรายหญิงอายุ 26 ปี เดินทางกลับมาจากสหรัฐฯ ทั้ง 3 คนไม่แสดงอาการ
วันที่ 4 กันยายน ทางด้านสหราชอาณาจักร ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวเกือบ 50 คน ก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรได้ยกระดับเชื้อมิว เป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ “อยู่ภายใต้การสอบสวน” ของทางสหราชอาณาจักร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากสำนักงานสาธารณสุขเปิดเผยผลการศึกษาว่า มิวอาจทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิดลดลง แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า เชื้อตัวนี้ สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเดลตาหรือไม่
ปัจจุบันเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวได้แพร่ระบาดไปแล้วกว่า 43 ประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยกระดับไวรัสสายพันธุ์ “มิว” หลังพบว่า เชื้อตัวนี้อาจหลบเลี่ยงวัคซีนได้ คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ “เบตา” ที่พบในแอฟริกาใต้ พร้อมเตือนด้วยว่า ไวรัส มิว อาจติดต่อได้ง่าย คล้ายกับ เชื้อ “เดลตา” ซึ่งเชื้อ เบตาและเดลตา ถูกยกระดับเป็น “สายพันธุ์ที่ต้องกังวล” ไปแล้ว โดยเป็นระดับอันตรายกว่าสายพันธุ์ที่ควรสนใจ
ทางด้านประเทศไทย ยังไม่ได้รับรายงานถึงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโควิด 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ เดลตา อัลฟ่า และเบต้า ซึ่งได้กระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย และส่วนใหญ่ยังคงเป็นเดลตา ขณะที่เบต้าพบในบางพื้นที่โซนภาคใต้เท่านั้น ใน กทม. และบึงกาฬเคยพบ 1 ครั้ง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ยังไม่มีรายงาน
ขณะเดียวกันหากมีการติดกันเป็นกลุ่มก้อนมาก ด้วยลักษณะแปลก ๆ อาจมีการสุ่มตรวจเพื่อหาเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่อาจหลุดเข้ามาได้ จึงจะขอปรับกลุ่มเป้าหมาย และจะตรวจให้มากขึ้น ซึ่งรายละเอียดจะพิจารณาว่า จะเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพรวมของไทย จากอดีตตรวจในกรุงเทพฯ มาก ตรวจต่างจังหวัดน้อยกว่า อาจไม่เหมาะในการบอกภาพรวม จึงต้องปรับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเข้ามาใหม่ต้องหาทางสกัดให้เจอ และข้อมูลของเราต้องเป็นตัวแทนภาพรวมของประเทศ
พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจากนี้ไปถึงเดือนธันวาคม 2564 จะตรวจให้ได้ 1 หมื่นตัวอย่าง โดยจะมีน้ำยาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ะละพื้นที่ไปตรวจ พร้อมกำชับว่าอย่าตกใจ หรือ ตื่นตระหนก ให้มั่นใจในการทำงานและการเฝ้าระวัง ว่าจะป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์มิวนี้ อีกทั้งยังยืนยันว่า ทางด้านการพยาบาล รักษา เพียงพอต่อการรับมือได้อย่างแน่นอน..
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ QuotesAboutSmile และ Keywordsfun