5 วิธีรับมือ “น้ำท่วม” ให้ปลอดภัย
วิกฤติน้ำท่วม 2564 ในหลายจังหวัดของประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง ควรจับตามองอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างหนัก ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีมวลน้ำที่ไหลลงมาสู่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ที่จะต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินในครั้งนี้ ควรมีการเตรียมตัวรับมือให้เป็นอย่างดี ซึ่งเรามีวิธีเตรียมรับมือกับน้ำท่วมมาฝาก ดังนี้
1. ติดตามการประกาศเตือนภัย
ควรติดตามสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉินจากช่องทางต่างๆจากสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ที่เกาะติดรายงานสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะรายงานข่าวที่เกาะติดในพื้นที่จากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นต้น รวมถึงเตรียมพร้อม ติดตาม เฝ้าระวัง สังเกตระดับน้ำ หากมีการแจ้งอพยพ ให้รีบอพยพทันที โดยลักษณะการเตือนภัยจะมีดังนี้
- การเฝ้าระวังน้ำท่วม : มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมและอยู่ในระหว่างสังเกตการณ์
- การเตือนภัยน้ำท่วม : เตือนภัยจะเกิดน้ำท่วม
- การเตือนภัยน้ำท่วมรุนแรง : เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงภาวะปกติ : เหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ หรือเป็นพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม
2. เตรียมแผนรับมือ
ควรมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อการรับมือที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ขนย้ายสิ่งของต่างๆ ขึ้นที่สูง รวมถึงย้ายทรัพย์สินมีค่าไปยังที่ปลอดภัย เพื่อให้พ้นจากระดับน้ำท่วม เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน สุดบัญชีธนาคาร พร้อมจัดทำสำเนา จัดเก็บไว้ในถุงพลาสติกกันน้ำ
รวมถึงซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว เน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ เพื่อที่จะได้รับมือได้อย่างทุกมิติปัญหา ที่สำคัญหากมีการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน และหากอยู่ในพื้นที่หุบเขาให้ปฎิบัติดังนี้
- ปีนขึ้นที่สูงให้เร็วสุดเท่าที่จะทำได้
- ไม่นำสัมภาระติดตัวไปมากเกินไป
- ไม่วิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำหลาก
3. เตรียมสิ่งของ
เตรียมสิ่งของจำเป็นเอาไว้ใช้ยามเกิดภัย เช่น น้ำ อาหาร ยารักษาโรค เสื้อผ้า ถุงนอน ผ้าห่ม เอกสารสำคัญ ไฟฉายและถ่าน ไม้ขีดและไฟแช็ค กระดาษชำระ ผ้าอนามัย ยากันยุง ถุงดำ เชือก นกหวีด เทปกาว รองเท้าแตะ มีดพก ตุนน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้ให้ได้มากที่สุด ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และแก๊ส รวมถึงสำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด อย่างน้อย 3 วัน ที่สำคัญเตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นไว้ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว หรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันยาสูญหาย
4. หากอยู่นอกบ้าน
เมื่ออยู่นอกบ้านขณะที่เกิดเหตุน้ำท่วม ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหล มีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตจากจมน้ำตายในขณะที่น้ำกำลังมาความสูงของน้ำแค่ 15 ซม. ก็ทำให้เสียหลักล้มได้ ดังนั้นถ้ามีความจำเป็นต้องเดินผ่านที่น้ำไหลให้ลองนำไม้จุ่มเพื่อวัดระดับ น้ำก่อนทุกครั้ง รวมถึงห้ามขับรถในพื้นที่ที่กำลังโดนน้ำท่วม การขับรถในพื้นที่ที่น้ำท่วมมีความเสียงสูงมากที่จะจมน้ำ หากเห็นป้ายเตือนตามเส้นทางต่างๆ อย่าฝืนขับรถเข้าไปเพราะอาจมีอันตรายข้างหน้า กระแสน้ำไหลแรงที่สูงราว 50 ซม. สามารถพัดรถยนต์ จักรยานยนต์ให้ลอยได้
5. อพยพ
หากระดับน้ำท่วมสูงไม่สามารถอาศัยภายในบ้านได้ ให้ล็อคประตูบ้านและอพยพขึ้นที่สูง ถ้าไม่มีที่ปลอดภัยบนที่สูง ให้ฟังข้อมูลจากวิทยุหรือโทรทัศน์เกี่ยวกับสถานที่หลบภัยของหน่วยงานต่างๆ
นอกจากนี้ควรจดเบอร์โทรฉุกเฉินเเอาไว้ด้วย เพราะนอกจากขอความช่วยเหลือภัยน้ำท่วมแล้วนั้น ยังต้องมีการประสานงานเพื่ออพยพอีกเด้วย ซึ่งเบอร์โทรฉุกเฉิน สายด่วนกู้ภัยจะมีดังนี้
- ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พื้นที่กรุงเทพฯ โทร. 1111 กด 5
- ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท สอบถามเส้นทางน้ำท่วม โทร. 1146
- สายด่วนแจ้งเตือนสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โทร. 1784
- สายด่วนข้อมูลภัยพิบัติ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ICT) โทร. 192
- เครือข่ายอาสาสมัครวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน โทร. 1677
สุดจะเห็นได้ว่านอกเหนือการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือน้ำท่วมแล้ว ก็ควรติดตามข่าวสารด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากมีคำสั่งจากทางการให้อพยพไปยังที่ปลอดภัย ควรนำของจำเป็นติดตัวไปเท่านั้น และรีบเดินทางออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด
อ่านบทความเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเติม : อาการแพ้ สัญญาณเตือนของความอันตราย
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Keywordsfun และ quotesaboutsmile